ได้รับคำสั่งให้ ระงับการก่อสร้าง,ห้ามใช้,ระงับการใช้,รื้อถอนอาคาร เจ้าของอาคารต้องทำอย่างไร

เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้วหรืออาคารที่อยู่ระหว่าง การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาจได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย และอาจมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารหรือบริเวณอาคารได้ หากมีการกระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารรวมถึงกฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร แม้ว่าอาคารจะมีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากภายหลังมีการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารเกิดขึ้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังมีอำนาจในการออกคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครองครองอาคาร ระงับการใช้ หรือให้รื้อถอน อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ไม่ถูกต้องได้ เช่น กรณีการได้รับร้องเรียนจากผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้กับสถานที่ก่อสร้างหรืออาคารดังกล่าว หรือจากการตรวจสอบพบโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นเอง

คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เป็นคำสั่งทางปกครอง หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร รวมถึงผู้ถูกกระทบสิทธิจากการกระทำซึ่งไม่ปฎิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งหรือการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และมีเหตุผลหรือพยานหลักฐานในการโต้แย้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่ง หรือหากเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารยินดีที่จะปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ก็สามารถดำเนินการแก้ไขหรือปฏิบัติตามคำสั่ง และแจ้งไปยังเจ้าพนักงานท้องถิ่นถึงการแก้ไขหรือปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อให้สามารถดำเนินการ ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย หรือเพื่อให้สามารถใช้หรือเข้าไปในอาคารดังกล่าวต่อไปได้

การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

การอุทธรณ์คำสั่งให้ทำเป็นหนังสือและยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้ออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องจัดส่งอุทธรณ์และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ พร้อมทั้งแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลเป็นหนังสือไปยังผู้อุทธรณ์และเจ้าพนักงานท้องถิ่น ถ้าผู้อุทธรณ์คำสั่งไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสนอคดีต่อศาลปกครองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือศาลปกครองมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาเป็นประการใด เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องปฏิบัติตามนั้น

และในระหว่างอุทธรณ์ ห้ามมิให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคาร เว้นแต่อาคารนั้นจะเป็นภยันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน หรือมีลักษณะซึ่งไม่อาจรอได้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร และการกระทำของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คือใครบ้างนั้นแบ่งออกเป็น 2 กรณี (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมตาม มาตรา 50)

1. ในเขตกรุงเทพหมานครหรือในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนคณะกรรการควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ผู้แทนคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 6 คน และหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการควบคุมอาคาร

2. ในเขตเทศบาล เขตเมืองพัทยา หรือเขตราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด บุคคลอื่นซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งอีกไม่เกิน 6 คน และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการเสนอคดีต่อศาลปกครองในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่อาจมีคำวินัจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จได้ภายใน 60 วัน ดังนั้นหากพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ถือว่าผู้อุทธรณ์มีอำนาจในการนำคดีเสนอต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับมูลกรณีที่ได้มีการอุทธรณ์คำสั่ง เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำสั่งภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

การออกแบบและก่อสร้างอาคารจึงควรศึกษาและกระทำการตามกฎหมายควบคุมอาคารโดยถูกต้องครบถ้วน เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่อาจตามมาในภายหลัง หรืออาจทำให้เกิดความยุ่งยาก รวมทั้งอาจเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือเวลา หรือแม้กระทั้งอาจทำให้ต้องถูกดำเนินคดีและรับโทษในทางอาญาได้