หลักหมุดที่ดิน คือ หลักหมายเขตที่ดินหรือหมุดหลักฐานที่ลงไว้ในที่ดินซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำไว้เพื่อการทำแผนที่และการรังวัดที่ดิน
การทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอน หลักหมุดที่ดิน และโทษทางอาญา
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 67 บัญญัติว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำหลักหมายเขตที่ดิน หรือได้สร้างหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่ลงไว้ในที่ดิน ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดนอกจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอนหลักหมายเขตหรือหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่นั้นไปจากที่เดิม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานที่ดิน
ดังนั้น หากมีผู้ทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอน หลักหมุดที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งมีหลักหมุดที่ดินอยู่ในแนวเขตที่ดินของตนเองหรือบุคคลอื่นใดก็ตาม จะต้องรับโทษทางอาญาตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 109 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 67 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่หากกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆที่จะต้องทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอน หลักหมุดที่ดิน อาจกระทำได้โดยให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขออนุญาต ในกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่อนุญาต ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อไป ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 68 ส่วนจะได้รับอนุญาตหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่ดินและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหากผู้ยื่นคำร้องไม่พอใจผลการพิจารณาอุทธรณ์สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองได้ และความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 109 นั้น มีอายุความ 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิด
การทำลาย เคลื่อนย้าย ถอดถอน หลักหมุดที่ดินโดยมีเจตนาเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น
นอกจากการทำลาย ดัดแปลง เคลื่อนย้าย ถอดถอน หลักหมุดที่ดินจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 109 แล้ว หากการกระทำนั้น ผู้กระทำมีเจตนาเพื่อถือเอาอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม โดยการยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหมายรวมถึงหลักหมุดที่ดินด้วย ยังถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 363 อีกกระทงหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตัวอย่างเช่น มีเจตนาเคลื่อนย้ายหลักหมุดที่ดินเข้าไปในที่ดินข้างเคียงและเข้าไปถือเอาที่ดินส่วนดังกล่าวเสมือนเป็นของตนเอง
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 363 เป็นความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีขาดอายุความ
และหากผู้ที่บุกรุกเข้าไปในที่ดินเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินส่วนดังกล่าว โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ผู้บุกรุกอาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงควรตรวจสอบที่ดิน แนวเขตที่ดิน และหลักหมุดที่ดินของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินซึ่งยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้