ผู้ซื้ออาคารที่ต่อเติมดัดแปลงไม่ถูกต้อง โดนบังคับตามกฎหมายควบคุมอาคารได้

4การดัดแปลงหรือต่อเติมอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บัญญัติไว้ให้กระทำได้เมื่อได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ยกเว้นกรณีการดัดแปลงหรือต่อเติมอาคารตามที่กำหนดไว้ใน กฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นการดัดแปลงอาคารที่มีลัษณะเป็นการดัดแปลงเพียงเล็กน้อยและไม่มีผลกระทบต่อความปลอยภัยของอาคาร

สามารถดูรายละเอียดการดัดแปลงอาคารตามที่กำหนดไว้ใน กฎกระทรวงฉบับที่ 11(พ.ศ.2528) เพิ่มเติมได้ที่เรื่อง Renovate อาคารเก่า ต้องขออนุญาตหรือไม่

การซื้ออาคารที่มีการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคาร

ผู้ซื้ออาคารต่อจากเจ้าของอาคารเดิม หรือรับโอนกรรมสิทธิ์อาคารนั้น ควรตรวจสอบว่าอาคารดังกล่าวมีการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หรือไม่อย่างไร ถ้าอาคารมีการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารไม่ถูกต้องและไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ แล้ว หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบพบหรือได้รับการร้องเรียนจากผู้อยู่อาศัยข้างเคียง ผู้ซื้อหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารนั้น จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

แม้ว่าผู้ซื้อหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ จะได้ซื้อหรือรับโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของอาคารเดิม ภายหลังจากที่เจ้าของเดิมทำการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารแล้วก็ตาม ผู้ซื้อหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าตนเองไม่ทราบว่ามีการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารนั้นเกิดขึ้นก่อนการซื้อขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ และไม่ใช่การกระทำของผู้ซื้อหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ การกล่าวอ้างดังกล่าวอาจทำให้ผู้ซื้อหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พ้นผิดในทางอาญาแต่ยังคงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

พระราชบัญญัติควบคุมอาคารบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของสังคมส่วนรวม หากผู้ซื้อหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์จากเจ้าของอาคารเดิมได้รับความเสียหายในกรณีนี้และมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายกับเจ้าของอาคารเดิม ก็ชอบที่จะไปดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของอาคารเดิมเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป

คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ซื้อหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามขั้นตอนของกฎหมายได้

สามารถดูรายละเอียดการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพิ่มเติมได้ที่เรื่อง ได้รับคำสั่งให้ ระงับการก่อสร้าง,ห้ามใช้,ระงับการใช้,รื้อถอนอาคาร เจ้าของอาคารต้องทำอย่างไร