รู้ไว้ ก่อนทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้าน

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้าน โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

1. สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ค่าของ(อุปกรณ์,สัมภาระ,วัสดุก่อสร้าง)+ค่าแรง สำหรับงานรับเหมาก่อสร้างบ้านทั่วไป

2. สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เฉพาะค่าแรง(ไม่รวมค่าของ) ส่วนใหญ่จะใช้กับพวกงานก่อสร้างต่อเติมหรือปรับปรุงเล็กน้อย บ้านขนาดเล็กปริมาณงานก่อสร้างไม่มากนัก ซึ่งบ้านทั่วไปหากผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจด้านการก่อสร้างพอสมควรก็อาจจะใช้สัญญาในรูปแบบนี้ได้

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับสัญญาจ้างทำของ

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เป็น สัญญาจ้างทำของ ประเภทหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งสัญญาจ้างทำของนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

สัญญาจ้างทำของจึงคำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลักมิได้คำนึงถึงระยะเวลา หากผู้ว่าจ้างไม่ได้กำหนดเวลากับผู้รับจ้างไว้ผลสำเร็จของสัญญาจึงขึ้นกับผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง หากต้องการให้งานที่ว่าจ้างสำเร็จตามระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ต้องมีการกำหนดระยะเวลาที่งานจะต้องแล้วเสร็จไว้ในสัญญา

สัญญาจ้างทำของกฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบของสัญญาไว้ จะเป็นสัญญาด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็สามารถบังคับกันได้ แต่โดยทั่วไปแล้วสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านควรทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะงานที่รับจ้างทำกันมีมูลค่าราคาว่าจ้างสูง ทั้งยังมีรายละเอียดของงาน รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างที่ซับซ้อนกว่าการจ้างทำของทั่วไป

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้าน ปัจจุบันมีกฎหมายควบคุมรูปแบบของสัญญาซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้ว่าจ้างในฐานะผู้บริโภค ตามประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2559 มีการกำหนดรายละเอียดของรูปแบบสัญญาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้บริโภค โดยทั่วไปหากผู้รับจ้างเป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นนิติบุคคลจะมีสัญญาที่มีลักษณะที่เป็นสัญญาสำเร็จรูปให้กับผู้ว่าจ้างตกลงตามสัญญาที่ทางผู้รับจ้างกำหนด และในอดีตสัญญาหลายส่วนอาจทำให้ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้บริโภคเสียเปรียบ(รายละเอียดสามารถหาดูเพิ่มเติมได้ในประกาศ) ซึ่งประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2559 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35ทวิ แห่ง พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หากข้อสัญญาใดขัดกับประกาศฉบับนี้ และทำให้ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นผู้บริโภคเสียเปรียบ ข้อสัญญานั้นใช้บังคับไม่ได้

นอกจากนี้ มาตรา 35ตรี และมาตรา 35จัตวา แห่ง พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ยังกำหนดว่า ถ้าสัญญานั้นไม่ใช้ข้อสัญญาดังกล่าว(ตามประกาศ) หรือใช้ข้อสัญญาดังกล่าว(ตามประกาศ) แต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ให้ถือว่าสัญญานั้นใช้ข้อสัญญาดังกล่าวหรือใช้ข้อสัญญาดังกล่าวตามเงื่อนไขตามประกาศ และในกรณีสัญญาของการประกอบธุรกิจที่ควบคุมสัญญากำหนดว่าต้องไม่ใช้ข้อสัญญาใดตามมาตรา ๓๕ ทวิ แล้ว ถ้าในสัญญาใช้ข้อสัญญาดังกล่าวให้ถือว่าสัญญานั้นไม่มีข้อสัญญาเช่นว่านั้น

ดังนั้นก่อนทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้าน ควรต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งความถูกต้องของขอบเขตงานก่อสร้างตามสัญญา กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงานก่อสร้างตามสัญญา สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา โดยเฉพาะความรับผิดในความชำรุดบกพร่องจากการก่อสร้าง หรือการรับประกันผลงานรวมทั้งค่าปรับหรือค่าเสียหายหากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นต้น

ตัวอย่างสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้าน